วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ตลาดสามชุก

ตลาดสามชุก
แผนที่ทางไปสามชุก

ประวัติของตลาด100ปีสามชุก
           สามชุก เป็นเมืองเล็กๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยในอดีตสามชุกคือแหล่งที่ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติทั้งไทย จีน มอญ ฯลฯ มามีสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะของการแลกเปลี่ยน
และซื้อขายสินค้า จนพัฒนาไปสู่ การลงหลักปักฐาน สร้างเมืองที่มั่นคงขึ้นมาตามประวัติของเมืองสามชุก กล่าวไว้ว่า ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่ออำเภอนางบวชตั้งอยู่บริเวณ ตำบลนางบวช โดยมีขุนพรมสภา (บุญรอด) เป็นนายอำเภอคนแรก ซึ่งยังมีภาพถ่ายปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบันต่อมาในปี 2457 ต้นรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายอำเภอมาตั้งที่บ้าน สำเพ็งซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญในสมัยนั้น จนกระทั่งปี 2481 สมัยรัชกาลที่ 8 ได้เปลี่ยนชื่อจาก อำเภอนางบวชมาเป็น อำเภอสามชุกและย้ายมาตั้ง อยู่ริมลำน้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน) ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านคลอง มะขามเฒ่า แต่เดิมบริเวณที่ตั้งอำเภอสามชุกเรียกว่า ท่ายางมีชาวบ้านนำของป่าจากทิศตะวันตกมาค้าขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ บ้างก็มาจากทางเหนือ บ้างก็มาจากทางใต้ เป็น 3 สาย จึงเรียกบริเวณที่ค้าขายนี้ว่า สามแพร่ง ต่อมาได้เพี้ยน เป็น สามเพ็ง และสำเพ็งในที่สุด ดังปรากฎหลักฐานกล่าวไว้ในนิทานพื้นบ้านย่านสุพรรณมีเรื่องกล่าวต่อไปว่า ในระหว่างที่คนมารอขายสินค้าก็ได้ตัดไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของขาย เรียกว่า กระชุกชาวบ้านจึงเรียกว่า สามชุกมาถึงปัจจุบัน อำเภอสามชุกเดิมมีพื้นที่ 774.9 ตารางกิโลเมตร ต่อมาในปี 2528 ได้มีการตั้งอำเภอหนองหญ้าไซ จึงแบ่งบางส่วนออกไป ยังคงเหลือเพียง 362 ตารางกิโลเมตร

ตลาดสามชุกจึงเป็นตลาดสำคัญในการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญในอดีต ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี

แต่เมื่อถนนคือ เส้นทางจราจรทางบกที่เข้ามาแทนที่การเดินทางทางน้ำ ทำให้คนหันหลังให้กับแม่น้ำท่าจีน  ความสำคัญของตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าริมน้ำเริ่มลดลง บรรยากาศการค้า ขายในตลาดสามชุกเริ่มซบเซา และเมื่อต้องแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และตลาดนัดภายนอก ทำให้ร้านค้าภายในตลาดต้องหาทางปรับตัว และเมื่อราชพัสดุ เจ้าของที่ดินที่ชาวบ้านเช่าที่ดินมายาวนาน ดำริจะรื้ออาคารตลาดเก่า สร้างตลาดใหม่ จึงทำให้ชาวบ้านพ่อค้าที่อยู่ในตลาดสามชุก ครูอาจารย์ที่เห็นคุณค่าตลาดเก่า รวมตัวเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ระดมความคิด หาทางอนุรักษ์ตลาดและที่อยู่ของตนไว้ และหาทางฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เป็นที่มาของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ใช้การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นเครื่องมือการพัฒนาอาคารไม้เก่าแก่ ในตลาดสามชุก ที่ก่อสร้างเป็นแนวตั้งฉากกับแม่น้ำท่าจีน เป็นสิ่งบอกให้รู้ว่าเป็นลักษณะของตลาดจีนโบราณ เป็นชุมชนชาวไทย-จีน ที่ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ลวดลายฉลุไม้ที่เรียกว่าลายขนมปังขิง ซึ่งเท่าที่พบในตลาดนี้มีถึง 19 ลาย คือ ศิลปะตกแต่งอาคารไม้โบราณ ที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน หากไม่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ก็ย่อมสูญหายไปเช่นเดียวกับตลาดโบราณอื่นๆนอกจากสถาปัตยกรรม อาคารไม้โบราณที่พบเห็นได้ตลอดแนวทางเดิน 2 ข้างทางเดินในตลาด








บ้านเรือนไม้เก่าๆ  ที่แลดูสวยงามด้วยลวดลายฉลุไม้ในชุมชนสามชุกและตลาดเก่าร้อยปี   จ.สุพรรณบุรี  ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้แพร่หลายในช่วงสมัยรัชกาลที่  5  นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนสามชุกช่วยดูแลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่านี้ไว้ด้วยตระหนักในคุณค่าของตนเอง  จนได้รับรางวัล  "อนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทองค์กร"  ประจำปี  พ.ศ.2548  จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์


บ้านขุนจำนงจีนารักษ์เป็นอาคารห้องแถวไม้สามชั้น ที่คงไว้ซึ่งรูปแบบเรือนเก่าที่ระเบียงและเชิงชายฉลุลายไม้สวยงาม ขุนจำนงจีนารักษ์คหบดีชาวจีนผู้เป็นเจ้าของ เป็นนายอากรคนแรกของสามชุก ปัจจุบันตัวบ้านอยู่ภายในครอบครองของทายาท แต่ได้ให้คณะกรรมพัฒนาตลาดสามชุกเช่าทำพิพิธภัณฑ์เป็นเวลา 10 ปี ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ขายหนังสือและโปสการ์ดสวย ๆ รูปวาดตลาดสามชุกที่รายได้ส่วนหนึ่งนำไปสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน ชั้นล่างเปิดโล่งต้อนรับผู้มาเยือน โดยจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของตลาดร้อยปีสามชุก โมเดลย่อส่วนของตลาด รวมไปถึงส่วนที่แนะนำร้านค้าและสถานที่ที่น่าสนในภายในตลาด อาทิ ร้านกาแฟท่าเรือส่ง บุญช่วยหัตถกิจ ร้านนาฬิกาโบราณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสามชุก ร้านถ่ายรูปศิลป์ธรรมชาติ โรงแรมอุดมโชค ชั้นสองคงไว้ซึ่งเครื่องเรือนของท่านเจ้าของเดิมเหมือนเมื่อครั้งขุนจำนงจีนารักษ์ยังมีชีวิต ตามฝาผนังประดับประดาด้วยรูปภาพเก่าของครอบครัวจีนารักษ์ ส่วนชั้นที่สาม เป็นพื้นที่ของนิทรรศการหมุนเวียน



ไฮไลท์ที่สำคัญของตลาดสามชุกไม่ได้มีเพียงแค่บรรยากาศเท่านั้น แต่รายล้อมไปด้วยอาหารอร่อยสูตรโบราณที่มีอยู่มากมาย ตั้งแต่ร้านบะหมี่เจ๊กอ้าว ข้าวห่อใบบัว สูตรดั้งเดิม เจ๊ตี่เป็ดย่าง เป็นพะโล้ใหลำ นายเอ๋ผัดไทกุ้งสด เป็นต้น เรียกว่ากินได้กันอย่างอิ่มหนำสำราญกับรสชาติแสนอร่อยในราคามิตรภาพ คลุกเคล้ากับยิ้มสยามของพ่อค้าแม่ขายที่ยังไม่หายไปกับกาลเวลา





     ปัจจุบันชุมชนสามชุกนับได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย  มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสตลาดสามชุกอย่างหนาแน่นให้คนในชุมชนได้ทำมาหากินกันอย่างคึกคัก  นอกจากความงดงามของสถาปัตยกรรมแล้ว  ที่ถือเป็นมนต์เสน่ห์ของสามชุกนั้น  คือ  อาหารการกินพื้นบ้านและสินค้าที่หลากหลาย  ใครมีโอกาสไปเดินตลาดสามชุกจะรู้ว่าตลาดแห่งนี้ไม่ใช่แค่ตลาดขายอาหารธรรมดา

     ความสำเร็จของชุมชนสามชุกถูกตอกย้ำอย่างหนักแน่นอีกครั้ง  ด้วยการชนะรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกแห่งองค์การยูเนสโก  เมื่อต้นเดือนกันยายน  2552  ซึ่งได้มีการรับโล่รางวัลอนุรักษ์ของยูเนสโก    ชุมชนสามชุกตลาดร้อยปี  เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  โดยอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานในพิธีรับมอบ  ยังผลให้ตลาดสามชุกได้รับความสนใจและให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ  แต่การได้มาซึ่งรางวัลคงไม่สำคัญไปกว่าคนในสามชุกนี้ทะนงในคุณค่าและดูแลรักษาชุมชนให้เข้มแข็ง  เพราะในวันนี้กระแสการท่องเที่ยวที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนัก  ชุมชนสุ่มเสี่ยงระหว่างความเจริญกับความล่มสลาย

          แต่การตัดถนนหลักเชื่อมกรุงเทพฯ  เมื่อ  20  ปีก่อน  ทำให้สามชุกที่เคยเจริญกลับซบเซา  และเมื่อกรมธนารักษ์มีนโยบายจะรื้อตลาดเก่าสร้างตลาดใหม่  เพราะตลาดเก่าทรุดโทรม  คนในสามชุกจึงรวมตัวกันเกิดเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์  เมื่อปี  พ.ศ.2543  เราก็ประชุมกัน  ทุกคนเห็นว่า  ควรอนุรักษ์ตลาดสามชุกไว้  ฟื้นฟูตลาด  ประเพณี  และอาหารดั้งเดิมในตลาดสามชุก  รวมถึงการปรับปรุงบ้านของขุนจำนงจีนารักษ์  คนสำคัญของสามชุก  เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนในตลาด  ซึ่งลูกหลานยินดีให้คณะกรรมการฯ  ทำเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ชาวบ้านก็ช่วยกันอนุรักษ์พัฒนาตลาด  เริ่มมีคนมาเที่ยวตลาดสามชุก  มาชมเรือนไม้เก่า  ซื้ออาหารอร่อยๆ  ในตลาด  ก็แนะนำกันปากต่อปาก  สร้างรายได้ให้คนในสามชุก

     ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวมาไม่ต่ำกว่า  5,000  คน  แต่หลังจากได้รับรางวัลของยูเนสโก  คนมาเที่ยวสามชุกเกือบถึง  10,000  คน"  พงษ์วินบอกตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไปสำรวจกันจริงๆ  โดยคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกฯ

     ทั้งนี้  ร้านค้าในตลาดสามชุกปัจจุบันมีประมาณ  200-300  คูหา  แต่ในวันหยุดจะมีร้านขายของเพิ่มถึง  600  ร้าน  จากการสำรวจ  80%  เป็นของคนสามชุก  10%  เป็นของคนในอำเภอใกล้เคียง  ที่เหลืออีก  10%  เป็นคนข้างนอกมาขาย  นอกจากนี้  ปกติหน้าบ้านจะขายของกันเอง  แต่ในปัจจุบันบางบ้านเริ่มเปิดพื้นที่ให้เช่า  อย่างไรก็ตาม  ประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกให้ข้อมูลว่า  คนสามชุกจะประชุมกันเดือนละครั้งเพื่อสรุปการทำงาน  ปัญหา  และอุปสรรคร่วมกัน  ผลจากการประชุมจะเป็นกติกาชุมชนนำไปสู่การปฏิบัติ  เน้นสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน  ในปี  2553  จะเริ่มทำระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชน  จากเดิมที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะรวมทั้งมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมแม่น้ำท่าจีน  ไม่มีปัญหาขยะ  เพราะชุมชนมีการคัดแยกและนำของเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพใช้ในชุมชนอีกด้วย

     เดิมตั้งใจไว้ว่าทำให้ตลาดที่หยุดนิ่งไปฟื้นการค้าขายขึ้นมา  และเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  อนุรักษ์ตลาดเก่าของเก่าไว้  จน  3  ปีมานี้เกิดกระแสการท่องเที่ยวขานรับมากมาย  แต่ชุมชนก็ยังเน้นเรื่องอนุรักษ์  ที่นี่ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกัน  ไม่ปิดกั้น  แต่คนอื่นที่เข้ามาต้องรับกติกาของชุมชน  ถ้าชุมชนเข้มแข็งและสามัคคี  ปัญหาเข้ามายังไงก็รับและสู้ได้"  ผู้มีส่วนร่วมฟื้นฟูสามชุกตลาดร้อยปีเชื่ออย่างนั้น


     พัฒนาการของชุมชนสามชุกมาจากข้างในเป็นภาคประชาชน  โดยไม่มีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง  ชาวบ้านทำเองด้วยสำนึกร่วมบ้านเกิด  รักมาตุภูมิ  เมื่อมีวิกฤติ  มีคนจะมารื้อบ้านก็แสดงออก  เกิดการต้านเป็นกลุ่ม  เป็นองค์กรชุมชน  คนในสามชุกเป็นสังคมชนชั้นกลางผู้มีสติปัญญาและเสียสละ  ช่วยคิดช่วยค้นคว้าความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  เรียนรู้จากสิ่งที่มี  และร่วมกันทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อปลุกสำนึกร่วมของชุมชน  ทำให้ความเป็นคนสามชุกมีพลังขึ้นมา  เมื่อทำเสร็จคนสามชุกเป็นเจ้าของ  นี่คือความเป็นสามชุกที่ไม่เหมือนที่อื่น  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งคนนอกมาสร้างให้โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง

     การมาเที่ยวตลาดสามชุกไม่ใช่เพียงซื้อของเห็นของ  แต่ได้เห็นการค้าขายและชีวิตของชุมชนในตลาดสามชุก  เห็นบ้านเรือนเก่าตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้  อย่างบ้านขุนจำนงจีนารักษ์  เห็นโครงสร้างชุมชนที่มีศาลเจ้าเป็นตัวเชื่อม  มีพิธีกรรมที่ทำร่วมกัน  ตลาดหลายแห่งพัฒนาโดยตัดมิติทางจิตวิญญาณออกไป   แต่ที่นี่พัฒนาในแบบคนกับคน  คนกับธรรมชาติ  และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ   โดยเฉพาะการค้าขายไม่ใช่ตะบี้ตะบันขายทุกวันขอแค่ให้ได้เงิน  โดยของที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวสามชุกจะทำขายวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น  นี่คือวิถีแห่งความพอเพียง  แต่ละร้านพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ลูกหลานกลับมาช่วยทำ

     ความเก่าแก่ที่เป็นรากเหง้าสามชุกมีศักยภาพในการสื่อสารสูง  ถ้าเอาวัฒนธรรมต่างชาติมาก็เป็นแค่กระแส  แต่ปัญหาขณะนี้สามชุกกำลังจะพังไม่พังแหล่  เกิดความแออัด  Over  Load  จนกระทั่งท้องถิ่นไม่สามารถควบคุมได้  ที่นี่เผชิญแรงกดดันและถูกรุกเร้าจากข้างนอกมากเกินศักยภาพของสามชุก  ถ้าปล่อยให้ขยายพื้นที่กว้างกว่านี้จะพัง  เพราะข้างในคุมไม่ได้  ตอนนี้สามชุกสู้แบบต่อรอง  สินค้าที่ชุมชนทำเองผลิตเองจะขายในตลาด  แต่สินค้าจากคนนอกจะขายรอบนอก

     ทุกวันนี้ตลาดนัดท้องถิ่นกลายเป็นตลาดนัดอุตสาหกรรม  ของขายมาจากร้อยพ่อพันธุ์แม่  และไม่มีคุณภาพ  ส่วนตลาดน้ำหลายแห่งเอกชนเข้าไปจัดการ  โดยให้คนข้างนอกแย่งที่ทำมาหากินชาวบ้าน  มองที่การผลิตขนานใหญ่เป็นตัวตั้งตามค่านิยมตะวันตก  ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม  ตลาดนัดท้องถิ่นล่มสลายไปหมด  ต่างจากเศรษฐกิจพอเพียงเน้นชุมชนท้องถิ่นและเทคโนโลยีพื้นบ้านในการผลิต  ที่เน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

     แต่การต่อสู้กับระบบทุนนิยม  องค์กรภายในต้องทำความเข้าใจและเข้มแข็ง  หากมีร้านค้าว่างในตลาดแล้วปล่อยให้คนข้างนอกเข้ามาเช่าและขายของ  ก็จะกลายเป็นตลาดนัดอุตสาหกรรมไป  เพราะขาดสินค้าสำคัญของท้องถิ่น  นั่นคือผลิตภัณฑ์จากฝีมือและภูมิปัญญาท้องถิ่น  โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินถือเป็นตัวอย่างภูมิปัญญาที่ดีของสามชุก  อาหารอร่อยสามชุกมีการรื้อฟื้นและพัฒนาต่อเนื่อง  เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    
     ปัญหาการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวสามชุกอย่างเนืองแน่น  ที่ชุมชนเองก็กำลังตระหนักในปัญหา  ยังอาจถูกซ้ำเติมอีก  เมื่อคนในคณะรัฐบาลบางคนออกมาพูดถึงแนวทางการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวด้วยการท่องเที่ยวในประเทศ  ซึ่ง  "สามชุก"  ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะมีการป่าวร้องโฆษณาให้คนมาเที่ยวอีก  เพราะเพิ่งได้รับรางวัลจากยูเนสโกมาหมาดๆ

     ฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงสเน่ห์ที่แท้จริงของตลาดสามชุกนั้นคงไม่ใช่แค่บรรยากาศสมัยก่อน หรือตัวงานสถาปัตยกรรมที่มีหลงเหลืออยู่ให้หวนลำลึกถึงอดีตเท่านั้นแต่สิ่งที่น่าจะเป็นคำถามถึงความแท้จริงนั้นคำตอบคงเป็นเรื่องความมีชีวิตที่ยังหลงเหลือการดำรงชีวิตที่ยังมีให้เห็นอยู่ ซึ่งประเด็นคือตลาดสามชุกนั้นไม่ได้ตายไปแล้วมีคนมาสร้างบรรยากาศให้เป็นเหมือนเดิม แต่ตลาดสามชุกนั้นมีชีวิตที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากเท่านั้นเอง  ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ประกอบกิจการต่อกันเป็นรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่มีคนนอกมาประกอบหาผลประโยชน์แล้วตกแต่งร้านให้ดูโบราณ
   แต่เมื่อกระแสการท่องเที่ยวถูกโปรโมทอย่างหนัก ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการนั้นมีมากขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งเป็นผลดีคือพ่อค้าแม่ค้าได้ผลกำไรมากมาย มีการขึ้นราคาสินค้าอย่างมาก อีกทั้งจำนวนนึกท่องเที่ยวนั้นเพิ่มขึ้นมาจนทำให้การเดินชมบรรยากาศเริ่มจะเสียความขลัง กลายเป็นความแออัดที่เกินจะรับได้ ดังนั้นแล้วถ้าไม่มีการแก้ปัญหาเมื่อปล่อยไว้เป็นเวลานาน ความแท้ของสภาพท้องถิ่นนั้นก็คงจะค่อย ๆ เลือนลางหายไป ไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ดังที่จะเห็นได้จากสถานที่ท่องเที่ยวที่เกิดปัญหานี้ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเมืองปาย หรือตลาดอำพวา ก็เป็นได้
     "ตลาดสามชุก" ในวันนี้หากไม่ต้องการเป็นแค่เพียงแค่ "ตลาด" เท่านั้น และหากยังคงแน่วแน่เพื่อเป็น "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" เป็น "ลมหายใจแห่งอดีต" ที่ยังเปิดประตูต้อนรับรอการเยี่ยมเยือนจากนักท่องเที่ยวต่างถิ่น หรือแม้แต่ต่างชาติ ควรต้องหมั่นตรึกตรองและทบทวนการดำเนินงานของชุมชน ให้ยึดมั่นกับสัญญาต่อประชาคมว่าจะเป็นตลาดร้อยปี ในเชิงอนุรักษ์ มิใช่หวังกระแสการบูมแล้วละเลย ความเป็นอดีตที่น่าจดจำเล่าขานสืบต่อกันจนชั่วลูกหลาน


สุดท้ายนี้จากการทำรายงานเรื่องตลาดสามชุก ผู้จัดทำเองก็ได้นำข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางอินเตอร์เนต หรือจากการสอบถามบุคคลที่รุ้จักที่อยู่ในตลาดสามชุกเอง หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์จากผู้ทำรายงานเอง ซึ่งเรียนวิชาอนุรักษ์  ก็ทำให้เกิดแง่คิดถึงการอนุรักษ์ชุมชนโบราณ เป็นกรณีศึกษาตลาดสามชุกนี้ด้วยในเรื่องถึงความแท้และคุณค่าที่มีอยู่   ทำให้ได้ประโยชน์ต่อการคิดวิเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย