วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 9 01/08/2010

วัดราชบูรณะ พิษณุโลก


ลักษณะของวัดนั้นได้รับอิทธิพลจากอยุธยา เป็นบ้านเมืองพี่เมืองน้องกับอยุธยาเนื่องจากเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรประสูติ และเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์พิษณุโลกด้วย  ภายในอุโบสถนั้นมีการเขียนภาพรามเกียร์ติที่สวยงาม  การใช้โครงสร้างนั้นเป็นเสาปูนและรับหลังคาโครงไม้ ซึ่งโครงสร้างดุหนักแน่น แข็งแรงมาก แต่ถูกลดความแข็งด้วยลวดลายต่าง ๆ ที่ประดับประดาตัวเสาและส่วนต่าง ๆ ภายใน
นอกจากนั้นแล้วยังมีการเก็บรักษาจักรยานเก่า ๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัย ร.5 รวมถึงเรือพระพี่นั่งสมัยเสด็จประภาสพิษณุโลกหลงหลืออยู่ให้ประชาชนได้สักการะอีกด้วย
 
 
 
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (พระพุทธชินราช) พิษณุโลก


การวางผังของวัดนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก โดยเริ่มจากลานกว้างไปสู่อุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธชินราช ผ่านเข้าซุ้มประตูล้อมรอบด้วยวิหารคต ประดับด้วยพระพุทธรูปจำนวนมากวางอย่างเป็นระเบียบแสดงถึงความศรัทธาของชาวบ้าน  นอกจากนั้นแล้ววิหารรองนั้นจริง ๆ แล้วเป็นการลวงสเปสทำให้เสมือนว่าระเบียงคตที่เราอยู่นั้นเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่ที่จริง ๆ แล้วเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แสดงว่ามีการลดทอนบางอย่างหรือการใช้สเปสที่ร่วมกันในบางจุด ซึ่งผมเองยังไม่เข้าใจนัก ถือว่าเป็นความชาญฉลาดของช่างสมัยก่อนได้อย่างมาก
มุมมองในแต่ละส่วนของวัดสามารถมองเห็นพระธาตุได้อย่างดีแสดงถึงการวางผังโดยยึดหลักมุมมองได้อย่างดี
 
 
 
 
 
หลังจากนั้นก็ได้แวะซื้อของฝาก แวะรับประทานอาหาร และเดินทางกลับลาดกระบังอย่างสวัสดิภาพ
 
 
 
ขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้ความสำคัญในการออกทริป เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ จากสิ่งที่เราคุ้นเคยเป็นประจำให้เกิดสำนึกและเกิดคุณค่าทางความงามเมื่อได้พบเห็น  การออกทริปครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากไม่ใช่ในเชิงอนุรักษ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นยังเป็นส่วนช่วยให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการมองทางด้านความงาม
การวิเคราะห์สิ่งต่างๆ  ไม่ใช่เพียงอาคารเพียงเท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ทุ่งหญ้า สิ่งของ หรือแม่กระทั่งของกิน ทุกอย่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดีไซน์ทั้งสิ้น การเสพความงามในด้านต่าง ๆ จำเป็นสำหรับนักศึกษาสถาปัตย์อย่างมาก การที่เรานั่งทำงานอยู่ในห้องหรือไม่เคยได้สัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเสมือนการที่เราปิดหุปิดตาตัวเอง อาจารย์ทุกท่านได้เปิดตาพวกเรา ได้ให้แง่คิดใหม่ ๆ ในการดำเนินชีวิตที่จะอยู่ในโลกของความงาม    สุดท้ายนี้ขอขอบคุณอาจารย์ไก่เป็นอย่างมากที่ทำให้เราได้ทบทวนสิ่งที่เราได้ไปพบเจอ ได้คิดวิเคราะห์ออกมาถึงแม้ว่ามันอาจจะไม่ถูกต้องบ้าง แต่ก็เป็นประโยชน์กับนักศึกษาในภายภาคหน้าต่อไป  

วันที่ 8 31/07/2010

กงไกรลาศ สุโขทัย

ที่นี่เป็นบ้านของคุณลุงของอาจารย์ตี๋ ซึ่งเป็นบ้านไม้โบราณ มีขนาดที่ใหญ่เนื่องจากต่อเติมไปเรื่อยๆ หน้าบ้านติดถนนด้านหลังติดแม่น้ำ  โดยมีสวนหลังบ้านซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนที่มีขนาดใหญ่  เนื่องจากระดับน้ำเมื่อสูงขึ้นนั้นอาจจะถึงตัวบ้าน



หลังจากที่ได้ฟังการบรรยายพิเศษจากคุณลุงแล้วก็ได้เดินสำรวจที่กงไกรลาศนั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ มีการค้าขายทางน้ำในสมัยก่อน  บ้านโบราณเห็นได้ทั่วไปตามถนน เนื่องจากติดแม่น้ำจึงมีการจับปลา และบ้านริมน้ำนั้นมีการยกใต้ถุนที่สูงมาก แสดงให้เห็นถึงระดับน้ำที่สูงในหน้าน้ำหลาก




หลังจากพักรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็ได้ไปที่สนามบินสุโขทัย

ความน่าสนใจของการออกแบบที่ลงตัวและเข้ากับสภาพพื้นที่นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้สนามบินนี้เป็นสนามบินที่มีความสวยงาม อีกทั้งยังมีการทำกิจกรรมกับชาวบ้านเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชน  จากการเดินทางหลาย ๆ วันและเก็บข้อมุลจากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นถิ่นนั้นก็ได้คำตอบคือสนามบินแห่งนี้ว่าทำไมเราจำเป็นจะต้องศึกษางานพื้นถิ่น คำตอบคือ เอกลักษณ์ของความเป็นไทย อยู่ที่จุดใดไม่ใช่เพียงการใช้หลังคา แต่สิ่งที่แสดงถึงความเป็นไทยนั้นถูกส่งออกมาให้เห็นจากสเปส และบรรยากาศ เมื่ออยู่ในสนามบินสุโขทัยนั้นบ่งบอกได้ถึงความเป็นไทยและการรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นอาคารที่ต้องตอบสนองทางด้านฟังก์ชั่นที่เป็นสากล แต่ยังรักษาสเปสและลักษณะโครงสร้างได้ชัดเจนแม้อาจจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย



โรงแรมสุโขทัย

เป็นการออกแบบที่หยิบยกลักษณะของอุทยานประวัติศาสตร์มาใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย
ดังนั้นวัสดุและโทนสีจึงเป็นอิฐเรียงกัน นอกจากนั้นแล้วการวางตัวอาคารจึงเป็นแบบสมมาตร เหมือนกันวัด
มีการสร้างบ่อน้ำตรงกลางและมีอาคารล้อมรอบ สร้างสเปสให้เกิดความเป็นส่วนตัวด้วยการซ่อนทางเดินไว้ด้านหน้าแต่มีการบังสายตา และสามารถเปิดมุมมองออกมาภายนอกห้องพักที่เจอกับสระว่ายน้ำ





หลังจากนั้นก็ได้กลับเข้าไปที่ศรีสัชนาลัยอีกครั้ง
ไปดูบ้านพื้นถิ่นจนเย็นแล้วก็กลับไปที่พัก

วันที่ 7 30/07/2010

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย วัดพระศรีมหาธาตุราชวรวิหาร สุโขทัย


ลักษณะที่เห็นได้ชัดคือการวางกำแพง ที่มีลัษณะเป็น modular โดยเป็นกำแพงเตี้ย ๆ กั้นสเปสจากภายนอก แต่สามารถมองเห็นได้ชัด  ซุ้มประตูเป็นศิลาแลงวางเป็นท่อนเตี้ย ๆ แต่ไม่เหมือนกับวัดมหาธาตุคือประตูจะอยู่ตรงกลางและสามารถมองทะลุไปถึงพระปรางค์ได้ชัดเจน นอกจากนั้นแล้ววัดนี้ได้แสดงถึงความสมมาตรและการนำศิลปะขอมมาร่วมใช้ แสดงถึงช่วงเวลาของเมืองศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับสุโขทัย
 
 
วัดกุฎีราย สุโขทัย


การออกแบบของวัดนี้เป็นต้นฉบับของหลังคาสุโขทัย การเรียงอิฐให้เหมือนกับฝาปะกนไม้ ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าเดิมทีการสร้างอาคารนั้นมาจากโครงสร้างไม้ส่วนใหญ่ การทำอาคารนั้นน่าจะทำให้ดูโปร่งเบาซึ่งวัดนี้ถือว่าเป็นว้ัดป่าอยู่รอบนอกกำแพงเมือง
 
 

ความโปร่งเบาจากการเจาะช่องเปิดตามตั้ง
จากนั้นได้แวะชมหมู่บ้านรอบ ๆ วัดนี้


พิพิธภัณฑ์เตาสังคโลก
   เป็นการออกแบบที่ผสมผสานการใช้ศิลาแลงโดยการหยิบยก pattern ของการเรียงอิฐมาใช้ อาคารนั้นดุโปร่งสบายเหมือนบ้านพักอาศัย นอกจากนั้นยังใช้กำแพงที่ไม่สูง ทำให้เกิดความเข้ากันได้กับหมู่บ้านได้ดี


วัดเจดีย์เก้ายอด สุโขทัย


    เป็นวัดที่อยู่บนเนินเขา ซึ่งการใช้ศิลาแลงในการทำเป็นขั้นบันได มีการสกัดหินเป็นทางลาดซึ่งหาไม่ได้จากที่อื่น  นอกจากนั้นการเข้าสู่ตัวอาคารนั้นทำได้อลังการ เพราะว่าการที่จะเข้าถึงอาคารนั้นต้องเดินขึ้นไปตามขั้นบันไดทางด้านข้าง ดังนั้นลักษณะของอาคารเสมือนลอยตัวอยู่บนฐานเมื่อมองจากด้านหน้า
 
 
วัดนางพญา สุโขทัย


      สิ่งที่ได้เห็นคือในแง่มุมของการอนุรักษ์สิ่งที่มีเหลืออยุ่ชิ้นเดียว เพื่อรักษาให้ประติมากรรมนูนต่ำลวดลายปูนปั้นที่หลงเหลืออย่างสมบูรณ์ ที่เป็นของดั้งเดิมนั้นจำเป็นจะต้องสร้างหลังคาเพื่อคลุมกันแดดกันฝน ลวดลายปูนปั้นเป็นลายไทยที่มีลักษณะผูกติดกันไปเรื่อย ๆ มีความสัมพันธ์กันไปเป็นทอด ๆ
 
 
 
วัดช้างล้อม สุโขทัย


     ประเด็นที่มองถึงวัดนี้คือประติมากรรมช้างนั่นเอง ซึ่งการที่ช้างนั้นไม่เหมือนช้างจริง ๆ เสมือนว่ามีการตัดทอนลายละเอียดลง ทำให้ดูไม่เด่นจนเกินไปกว่าพระธาตุนั่นเอง
 



หลังจากนั้นได้เดินขึ้นไปข้างบน มีกลิ่นขี้นกไม่ขาดสาย แล้วเริ่มเหนื่อยล้าจากการเดินเป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังถูกแมลงป่ากัดเป็นแผล คุ้มจริง ๆ สำหรับการมาที่นี่ได้อะไรเยอะแยะ
 

วันที่ 6 29/07/2010

ชุมชนบ้านไผ่เขียว ต.ไผ่ล้อม อุตรดิตถ์


ระหว่างการเดินทางไปเมืองลับแลนั้นก็ต้องผ่านที่ไผ่ล้อมก่อน  โดยรถจอดอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่สิ่งที่จอดให้ดูนั้นก็สมกับที่ควรจอด

การเล่นระเบียงยื่นไปเป็นหลังคาอีกที
สิ่งที่ประทับใจที่ไผ่ล้อมนั้น คงจะเป็นบ้านหลังที่อยู่ในรูป เนื่องจากการวางแลนสเคปและการเล่นลีลาทางด้านโครงสร้างนั้นนึกไม่ถึง จะเห็นได้จากรูปมีการนำหลังคายื่นออกมาจากที่นั่งซึ่งประยุกต์เข้ากันได้อย่างดี
บริเวณหน้าบ้าน
จะเห็นได้จากแมสตัน ๆ เปิดช่องใต้ถุนเป็นบริเวณพักผ่อน ทางเดินไหลขึ้นไปบนบ้านดูเข้ากันดี นอกจากนั้นแล้วการจัดแลนสเคปเป็นแบบไทยๆ  เป็นพืชผักสวนครัวทั้งสิ้น นอกจากสามารถนำมาประกอบอาหารแล้วยังสามารถสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่นอีกด้วย
 
วัดดอนสัก อ.ลับแล ต.ฝายหลวง อุตรดิตถ์


วัดนี้เป็นการผสมผสานโครงสร้างระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง โดยจะมีศาลาการเปรียญที่ใช้โครงสร้างไม้แต่เป็นการพาดช่วงกว้างได้อย่างน่าทึ่ง การเปิดช่องให้เป็นลูกกรงช่วงระบายอากาศที่ดี และยังช่วยเรื่องแสงรวมถึงการมองเห็นภายนอกด้วย
 
ประตูอุโบสถแกะสลักด้วยไม้ งานฝีมือของช่างวัดนี้เป็นสิ่งที่สวยงาม คันทวยแต่ละอันไม่เหมือนกันสักอัน แต่สามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ ภายในใช้โครงสร้างที่มีความหนามาก ไม่เหมือนกับวัดที่เคยไปมา ทำให้ดูแข็งแรง ทนทาน แต่ไม่ดูมากจนเกินไป
 
 
 
หลังจากนั้นแล้วก็ได้ทำกิจกรรมเหมือนทุกวันคือ เยี่ยมชมบ้านพื้นถิ่น
 
<>
บ้านที่่ทำขนมโบราณ

วันที่ 5 28/07/2010

วันนี้อยู่ที่สุโขทัย โดยหลักแล้ววันนี้จะศึกษาโบราณสถานเมืองสุโขทัยเป็นหลัก

เริ่มด้วยสรีดภงค์ เป็นอ่างเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรกรรมสมัยก่อน ในปัจจุบันได้มีการสร้างเขื่อนซ้อนทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นได้ใช้อ่างเก็บน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
สรีดภงค์
หลังจากนั้นแล้วก็ได้ไปที่วัดมังกร ซึ่งเป็นวัดป่า อยู่ภายนอกกำแพงเมืองสุโขทัย
ลักษณะการวางผังวัดนั้นหมือนวัดปงยางคก วัสดุหลักนั้นใช้ศิลาแลง ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่หาได้ง่ายในพื้นที่
และสามารถก่อสร้างทำเป็นบล๊อคนำมาเรียงต่อกันได้ง่าย เนื่องจากการสร้างวัดนั้นตรงกับสมัยที่อาณาจักรศรีวิชัย การเจริญทางด้านพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างมาก สังเกตุได้จากใบเสมาหน้าวัดจะเป็นใบเสมาคู่ สันนิฐฐานว่าน่าจะเป็นการรวมกันของสองนิกายนอกจากนั้นแล้วจะมีบ่อน้ำโบราณที่พบเห็นได้บริเวณนั้นด้วย

วัดมังกร

วัดมหาธาตุ
ทางเข้าของวัดนั้นไม่ได้อยู่ด้านหน้าตรงกลางของวัด แต่จะเข้าทางด้านหน้าที่เยื้องไปทางด้านข้าง เมื่อเข้าถึงอาคารแล้วจะเห็นเจดีย์บริวารทั้ง 8 เป็นการทำให้เกิดมุมมองที่ต้องเดินต่อไปโดยไม่หลง เหมือนกันเป็นการชี้ทางเป็นนัยด้วยการกั้นสเปส ก็จะเห็นวิหารหลวงทางด้านขวามือ และสามารถเดินเข้าไปในเนินปราสาทได้

เนื่องจากวัดนี้เป็นวัดหลวง เป็นที่พำนักของกษัตริย์ จึงมีการกั้นสเปสที่เป็นส่วนตัว แต่ว่าไม่ได้กั้นด้วยกำแพงแต่กั้นด้วยสายตาและสเปสที่ตัดกันไปมา นอกจากนั้นแล้วยังมีการกั้นกำแพงเตี้ย ภายนอกด้วยเช่นกัน
วัดมหาธาตุ
หลังจากนั้นได้แวะกินข้าวที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สิ่งที่ได้เห็นก็คือว่าการออกแบบที่สอดคล้องกับคอนเซปที่สะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัยทำได้อย่างดี โดยการนำการใช้อิฐและสิลาแลง นำมาประยุกต์เข้ากับเรือนหมู่และการจัดสเปสการเข้าถึงอาคารที่เหมาะสมเข้ากับสุโขทัยได้ดี

วัดพระพายหลวง สุโขทัย

     เป็นการก่อสร้างโดยได้มีอิทธิพลมาจากขอม โดยพระปรางค์แบบขอมเป็นส่วนเดิมและมีของสุโขทัยมารวมกัน การวางผังคล้ายกับวัดข่วงกอม โดยโบสถ์มีการทำพิธีกรรม และเหมือนศาลาการเปรียญ นอกจากนั้นแล้วยังแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์และพุทธที่ผสมผสานกันในความเชื่อของคนในสมัยสุโขทัยหลังจากที่อาณาจักรขอมได้เสื่อมอำนาจลง
วัดพระพายหลวง

วัดศรีชุม สุโขทัย




     เริ่มด้วยการเข้าถึงอาคารจะพบวิหารเล็ก ๆ และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือพระพุทธรูปด้านหน้าองค์ใหญ่เรียกว่า พระอาจนะ บนเพดานจารึกพระเจ้า 500 ชาติเอาไว้ สิ่งที่น่าสนใจคือทางด้านโครงสร้าง ด้านในประกอบด้วยผนังสองชั้น ด้านในสามารถให้คนเดินเข้าไปและไปโผล่ตรงด้านหลังพระ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรได้ใช้ให้ทหารในการเรียกขวัญกำลังใจ เนื่องจากสามารถได้ยินเสียงก้องกังวาลมาจากข้างหลังพระ สเปสที่ดุยิ่งใหญ่ทำให้เกิดความซึมซับในความสงบของพระพุทธ ทำให้เกิดความศรัทธาไม่แพ้โบสถ์ของโกทิกด้วยซ้ำ  

วัดศรีชุม
วัดศรีสวาย สุโขทัย


      วัดนี้อาจารย์จิ๋วได้ให้แง่คิดในการออกแบบเรื่องการใช้ pattern ของผนังศิลาแลง กับผนังปูนเปลือย คุณค่าที่เกิดขึ้นจากการเวลาทำให้วัสดุเหล่านั้นได้แสดงความแท้ออกมา การเปิดช่องทางตั้งรับกับภายนอกที่มีการสร้างบ่อน้ำ เป็นสวนรอบ มีการนำน้ำจากใต้ดินมาใช้ นอกจากนั้นแล้วยังประดับด้วยประติมากรรมปูนปั้นที่เห็นได้บนพระปรางค์ โดยแนวคิดการออกแบบนี้สามารถนำมาใช้ได้กับรีสอร์ทได้อย่างดี เป็นการเล่นกับวัสดุที่แท้จริง

วัดศรีสวาย


หมู่บ้านสังคโลก สุโขทัย


    เมื่อเดินทางกลับนั้นก็ได้แวะไปเยี่ยมชมบ้านพื้นถิ่นอีกตามเคยจนกว่าแสงไม่พอที่จะถ่ายรูป  บ้านหลังที่ผมสนใจนั้นก็คือบ้านที่อยู่ในรูป เป็นการเล่นแมสที่ตันเจาะช่องเปิดใต้ถุนกว้าง ๆ เพื่อรับแสง ในขณะที่แมสตัน ๆ นั้นได้ถูกเจาะไปทำให้เกิดสเปสที่น่าสนใจในความเชื่อมต่อระว่างฝากหนึ่งไปอีกฝากหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วการเล่นสังกะสีในการเป็นวัสดุมุงผนังนั้นทำให้แมสที่ตันมีความเด่นออกมาอีกด้วย



หลังจากนั้นแล้วแสงก็ลับขอบฟ้า เราก็ได้เดินทางกลับที่พักกันอย่างสมใจ  5555

วันที่ 4 27/07/2010

วันที่ 4 ของการออกทริป

วันนี้ได้ไปดูวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งคือวัดปงสนุก แต่เดิมเป็นโบราณสถานที่ถูกทิ้งเอาไว้ แต่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่โดยคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับรางวัลการอนุรักษ์ดีเด่นจาก UNESCO อีกด้วย
ลักษณะของวัดนี้อยู่บนเนินดินที่สูง เข้าสู่ตัวอาคารโดยผ่านบันไดที่มีมีประติมากรรมปูนปั้ันรูปนาค มุ่งสู่วิหารด้วยการนำสายตาจากบันไดได้อย่างดี แต่การเข้าถึงนั้นต้องเดินเข้าจากด้านข้าง ลักษณะของวัดปงสนุกนั้นเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างล้านนาและพม่า ลักษณะโครงสร้างที่ซับซ้อนรวมถึงการใช้สีเป็นเอกลักษณ์ทางพม่าซึ่งเป็นการเล่นหลังคาซ้อนชั้นหลาย ๆ ชั้น ดังจะเห็นได้จากรูปนั้นเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ในการออกแบบโครงสร้างไม้ โดยที่มีการรับแรงไม่ตรงจุดเสา แต่เป็นการยื่นคานไปรับเสาที่รับหลังคาอีกทีหนึ่ง

วัดปงสนุก

จากนั้นก็ได้ไปที่วัดศรีรองเมือง

วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่โดยเริ่มทำการก่อสร้างโดยคหบดีชาวพม่าที่เชื่่อว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นการทำลายธรรมชาติจึงได้สร้างวัดนี้เพื่อขอขมาเทวดาต่าง ๆ ที่อยู่ในต้นไม้

ลักษณะเด่นของวัดนี้คือการใช้กระจกในการประดับประดาภายในตัวอาคารซึ่งเป็นหมู่เรือนขนาดใหญ่ หลังคาที่ซ้อนชั้นหลาย ๆ ชั้นนั้นก่อให้เกิดการระบายอากาศที่ดี ทำให้ภายในวัดนั้นร่มเย็น

วัดศรีรองเมือง กับการใช้กระจกประดับอาคาร

จากลำปางเราได้ออกเดินทางไปสู่จังหวัดแพร่เพื่อไปดูหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการศึกษาลักษณะของสิ่งที่มีอยู่และวิถีการดำเนินชีวิตของคนท้องถิ่น

ลักษณะของบ้านเป็นบ้านไม้เปิดใต้ถุนสุง มีลานดินอยุ่หน้าบ้าน และมียุ้งเก็บข้าว  การสร้าง curculation ทำให้เกิดแกนของบ้านแบ่งแยกสเปสระหว่างบ้านสองหลัง คั่นกลางด้วยยุ้งเก็บข้าว นอกจากนั้นแล้วยังล้อมรอบด้วยพืชสวนครัว


นอกจากนั้นแล้วการใช้สังกะสีทำให้เกิดความแตกต่างที่ลงตัวของวัสดุ อีกทั้งยังมีการเล่นระเบียงโดยใช้เสาเล็ก ๆ ค้ำหลังคาที่ยื่นมาอีกทีหนึ่ง ทำให้เกิดความโปร่งของอาคาร อีกทั้งยังช่วยให้เกิดฟังก์ชั่นในการตากผ้า สามารถนำมาประยุกต์กับการออกแบบรีสอร์ทได้ดี

การใช้เสาค้ำหลังคานอกจากจะช่วยเรื่องโครงสร้างแล้วยังเพิ่มความโปร่งเบาให้กับบ้านด้วย
หลังจากนั้นได้เกิดฝนตกอย่างหนัก นักศึกษาต้องหลบฝนตามบ้านของชาวบ้าน กว่าฝนจะหยุดตกนั้นก็เริ่มค่ำแล้ว ดังนั้นจึงได้เดินทางไปสู่สุโขทัยเพื่อพักผ่อนเพื่อเดินทางในวันต่อไป

วันที่ 3 26/07/2010

วันที่สามของการออกทริป


ไปที่วัดสุชาดาราม

วัดนี้เป็นวัดที่ได้รับรางวัลการอนุรักษ์ดีเด่น ดังนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะได้ศึกษาลักษณะรูปแบบของวัดล้านนา
การเข้าถึงอาคารนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการใช้สเปสส่วนกลางที่เบรคการเข้าถึง ให้เราได้ยืนมองทั้งสองวิหารและเป็นการนำสายตาไปสู่วิหารหลักอย่างน่าสนใจ  โครงสร้างเป็นแบบจั่วหน้าพรหม ที่ซ้อนตามขื่อ และไม่มีปั้นลมปิดขอบกระเบื้อง การตกแต่งก็เป็นแบบปั้นปูนปิดกับไม้ เป็นเอกลักษณ์ของวัดนี้

จากการสอบถามคนพื้นที่ได้บอกว่าห้ามผู้หญิงเข้าไป แต่เหตุใดผู้หญิงภาคเรามาเต็มเลย 5555

ช่องเปิดระบายอากาศของวิหาร
นอกจากนั้นแล้วยังได้ไปเห็นวิหารรูปแบบของพม่า ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้กระจกและสังกะสี นอกจากนั้นแล้วโครงสร้างก็ดูน่าสนใน เป็นการแบกรับน้ำหนักลงสู่คานที่ไม่ตรงกับเสาในแต่ละจุด


หลังจากนั้นแล้วตอนกลางวันก็ได้พักรับประทานอาหารที่วัดวัดข่วงกอม


วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ เดิมทีได้ทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ได้มีการบูรณะซ่อมแซม และสร้างวิหารใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน

ลักษณะเด่นของวัดนี้คือการออกแบบโดยใช้วิทยาการสมัยใหม่ควบคู่ไปกับระเบียบประเพณี การวางผังนั้นเป็นไปตามระเบียบแบบแผน แต่การใช้วัสดุนั้นเพื่อให้เกิดความคงทนถาวรก็ได้ใช้วัสดุที่ดีกว่าเดิม สิ่งที่น่ายกย่องคือการสร้างวัดแล้วไม่ขัดกับสภาพบริบทของชุมชน เป็นการประยุกษ์ความรุ้จากการใช้วัสดุที่กลมกลืนกับธรรมชาติ
ดังนั้นแล้วเรียกได้ว่าเป็น organic architecture ได้เลย


วัดข่วงกอม

นอกจากการออกแบบตัววัดแล้ว ทางผุ้ออกแบบได้ออกแบบกุฐิสงฆ์ ซึ่งมีความสวยงามเป็นอย่างมาก มีการเล่นระดับและการใช้พื้นที่ส่วนกลาง การปลูกต้นสักล้อมรอบ ทำให้หมู่อาคารนั้นกลมกลืนไปกับธรรมชาติ นอกจากนั้นวัสดุยังเป็นไม้อีกด้วย  แต่ไม่มีคนอยู่เนื่องจากสร้างผิดที่ผิดทาง ดังนั้นการออกแบบจึงจำเป็นต้องศึกษาวิถีชีวิตและความเชื่อของคนด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดกรณีนี้ก็เป็นได้

organic architecture
นอกจากการมาที่วัดนี้แล้วจะได้ศึกษาการออกแบบแล้วยังได้ประสบการณ์การสำรวจพื้นที่รอบข้าง โดยได้ดูบ้านของชาวบ้านและการปลูกสวนครัวที่สวยงาม รวมถึงสภาพท้องถิ่น ทุ่งนา การส่งน้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย
 
เมื่อถึงตอนเย็น นักเรียนทุกคนเริ่มหนื่อยล้า จึงได้ไปพักผ่อนนอนอาบน้ำร้อนที่น้ำตกแจ้ซ้อน
 

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน

วันที่ 2 25/07/2010

วันที่สองของการออกทริป

ตอนเช้าเดินทางไปที่วัดไหล่หิน  ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของลำปาง
ลักษณะของวัดนี้ที่เป็นจุดเด่นก็คือ การใช้รูปแบบการทำให้มุมมองของการเข้าถึงอาคารที่ทำได้ดีในการหลอกสายตาว่าเป็นวิหารขนาดใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วเป็นวิหารที่เล็ก ๆ โดยการนำสายตาจากลานทรายที่กว้าง ๆ ทอดไปยังอาคาร โดยมีรูปปั้นสิงห์อยู่ขนาบข้างทางเดิน ทอดไปยังซุ้มประตูปูนปั้นที่ดูวิจิตรตระการตา ทำให้รู้สึกว่าระยะทางของการเข้าถึงนั้นอยู่ไกลออกไป อีกทั้งด้านหลังของวิหารนั้นปลูกต้นไม้ที่เป็นเส้นตั้ง ทำให้อาคารนั้นดูเหมือนว่ายิ่งใหญ่ ทำให้เกิดความน่าศรัทธา  

ภายในของวิหารนั้นเป็นลานทรายล้อมรอบพระธาตุและตัววิหาร นอกจากนั้นแล้วยังมีระเบียงคดที่มีสีขาวสะอาด ทำให้เกิดความมีคอนทราสระหว่างตัวอาคารทำให้เกิดจุดเด่นของวิหาร  ลักษณะโครงสร้างนั้นเป็นไม้เป็นโครงสร้างหลัก ประดับประดาด้วยการทาสีลวดลาย นอกจากนั้นการให้แสงสว่างของอาคารนั้นดูเป็นธรรมชาติยิ่งนัก

แต่ประเด็นที่น่าสนใจของการมาศึกษาวัดไหล่หินนั้นคือการอนุกรักษ์ ซึ่งปัจจุบันนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุมุงหลังคา ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากระหว่างของเก่ากับของใหม่  การตัดต้นไม้ข้างวิหารนั้นทำให้บรรยากาศดูไม่ขลังเช่นเดิม ดังนั้นคุณค่าของอาคารจึงลดลงไป แต่การที่จะบูรณะก็ต้องชั่งน้ำหนักไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างความอยู่คงทนถาวร หรือการรักษาคุณค่า ก็ควรจะคล้อยตามกัน ดังนั้นการบูรณะอาคารที่เก่าขนาดนี้จำเป็นต้องศึกษาถึงรูปแบบและคุณค่า การรักษาคุณค่าของอาคารนั้นเป็นสิ่งสำคัญและเป็นบทเรียนกับการอนุรักษ์สิ่งต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

วัดไหล่หิน สังเกตุที่สเกลคนกับอาคาร
ด้านข้าง ระเบียงคด กับลานทราย


หลังจากที่ได้ไปวัดไหล่หินกันแล้ว ก็ได้ไปวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของจังหวัดลำปาง เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาโดยแท้ สิ่งที่ได้นำมาคิดวิเคราะห์กันนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องของการดีไซน์แล้วยังกล่าวถึงในแง่ของการอนุรักษ์อีกด้วย


ลักษณะการออกแบบของวัดพระธาตุลำปางหลวงนั้นเป็นไปตามระเบียบประเพณีของล้านนาโดยแท้ มีวิหารขนาดใหญ่ และพระธาตุอยู่ด้านหลัง มีลานทรายเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสรรจรของผู้คน
การเข้าถึงอาคารจะไม่สามารถมองเห็นวิหารได้จากภายนอก แต่เป็นการนำสายตาจากประตูทางเข้าทีดูสง่า ล้อมรอบด้วยกำแพงก่ออิฐที่มีคุณค่าความแท้จากวัสดุ รอบกำแพงนั้นจัดเป็นสวนที่ใช้ต้นไม้ทางตั้งเพื่อเบรคความยาวของอาคาร 

ในเชิงอนุรักษ์นั้นตอนนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงเริ่มได้มีการปูกระเบื้องในบริเวณลานภายใน ซึ่งทำให้คุณค่าของความแท้ลดลงไป นอกจากนั้้นแล้วสวนภายนอกนั้นยังได้มีการเปลี่ยนแปลง มีการสร้างอุโบสถที่มีความแตกต่างอย่างมาก ทำให้ไม่เกิดความคล้อยตามซึ่งกันและกัน โดยการที่จะทำให้คุณค่าเพิ่มขัึ้นกลับทำให้คุณค่าเดิม ๆ ที่มีอยู่ลดลงไป

พระธาตุลำปางหลวง

ลานทรายและระเบียงคดที่เป็นกำแพง ดูแล้วเหมือนอยู่บนสวรรค์

หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปดูที่วัดโปงยางคก ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่อีกวัดหนึ่ง วัดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากฝ้่งพม่า
สิ่งที่น่าสนใจของวิหารนี้น่าจะเป็นการใช้แสงจากภายนอก และการลื่นไหลของสเปสที่เราไม่เห็นแต่จะสัมผัสจากการนั่งอยุ่ภายใน เพราะว่าการเปิดให้แสงของวิหารนี้จะเปิดจากด้านล่าง ดังนั้นสเปสจะเชื่อมต่อกันเองโดยสายตาเกิดการระบายอากาศและแสงที่ดี ภายในวิหารประดับประดาด้วยลวดลายที่งดงาม และประติมากรรมปูนปั้นโบราณ เข้ากับโครงสร้างที่ดุหนักแน่น ถือว่าเป็นการเล่นกับวัสดุได้อย่างดี  นอกจากนั้นในส่วนของหลังคายังคงเดิมไว้ของเดิม แต่จะแตกต่างตรงที่มีการนำพระพุทธรูปหล่อโลหะไปตั้งไว้ทำให้เกิดการแตกต่างไปเท่านั้นเอง 

การเปิดช่องเปิดด้านล่างของวิหาร
วัสดุมุงกระเบืองเข้ากับอาคารอย่างดี ทำให้เกิดคุณค่าอย่างมาก


หลังจากที่ได้ไปชมวัดทั้งสามวัดแล้ว ระหว่างทางนั้นเองก็ได้ไปที่บ้านโบราณหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบผสมผสานวัสดุท้องถิ่น ฝีมือช่างท้องถิ่น แต่รูปแบบมีการนำรูปแบบทางตะวันตกมาใช้ แต่ว่าเข้ากันได้แบบลงตัว การวางฟังก์ชั่นของบ้านไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่สามารถทำให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทั้งที่ตั้งและบริบทรอบข้างได้อย่าดี

บ้านโบราณที่ผสมผสานหลังคาจากตะวันตก
ระหว่างการเดินทางนั้นเองได้แวะไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เป็นหมู่บ้านที่มีความสวยงาม มีบ้านโบราณอยู่ทั่วไป
จากการสอบถามเจ้าของบ้านนั้นคือว่าเขาเองก็ไม่อยากรื้อถอนเพราะเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษให้มา อีกทั้้งเป็นของโบราณควรซึ่งมีคุณค่าที่ให้ลูกหลานได้สืบทอดต่อไป

บ้านโบราณ  ลำปาง