วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

assignment ครั้งที่ 4 สัมภาษณ์สถาปนิกรุ่นพี่

บทสัมภาษณ์รุ่นพี่ลาดกระบัง   โดย นายณัฐพล  ดวงจินดา รหัส 49020133

Assignment ชิ้นที่สี่ Mission ตามหาสถาปนิก Idol รุ่นพี่ลาดกระบัง

      โดยการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้ไปสัมภาษณ์รุ่นพี่รหัสเข้าปี 40 ชื่อ พี่เอ๋  ชัยวัฒน์  รักอู่  อายุ 31 ปี ซึ่งตอนนี้พี่เอ๋ได้ทำงานที่สถาบันพัฒนาองค์ชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สถานที่สัมภาษณ์คือที่สถาบันพัฒนาองค์ชุมชน แผนกบ้านมั่นคง ซึ่งอยู่บนชั้น 5 ของสถานที่ดังกล่าว เวลา 12.00 น. ซึ่งเป็นเวลาพักเที่ยงของพี่เอ๋  โดยผมเองก็รู้สึกเกรงใจที่รบกวนเวลาพักเที่ยงเพราะพี่เอ๋ก็งานยุ่งอยู่เหมือนกัน ต้องขอโทษพี่เอ๋ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

     เริ่มด้วยการทักทายด้วยคำสวัสดีจากพี่ที่เราไม่เคยเห็นหน้าคาดตากันมาก่อน ก็รู้สึกเกรงใจและประหม่าบ้าง โดยผมเองก็ไม่เคยได้ไปสัมภาษณ์ใครในที่ทำงานอย่างนี้เช่นกัน คำถามแรกเกี่ยวกับประวัติการศึกษาของพี่เอ๋ พี่เอ๋บอกว่าก็จบมานานมากแล้วนะ แต่จำได้ว่ารหัสเข้าตอนปี 40 พอเรียนจบก็ช่วยงานที่คณะอยู่สักระยะหนึ่งเป็นเกี่ยวกับการออกแบบผังแม่บทสถาบัน  โดยส่วนที่พี่เอ๋รับผิดชอบคือส่วนของคณะสถาปัตย์โดยส่วนใหญ่แล้วก็มีหน้าที่ออกแบบผังแม่บท ,ปรับปรุง ,ออกแบบ landscape, การจัดการต่าง ๆ ,งานระบบ แล้วก็ส่วนที่เป็น master plan ส่วนตัวอาคารที่สร้างใหม่(ตึกบูรณาการ) การจัดการอาคาร  ออกแบบส่วนปรับปรุงสำนักงานคณะบดี  โดยขณะที่ช่วยทำงานที่คณะอยู่นั้นก็ได้เรียนต่อปริญญาโทผังเมืองไปด้วย  ส่วนระหว่างเรียนนั้นก็ได้ทำงานกับพี่รหัสโดยเป็นออฟฟิสที่เปิดขึ้นเองชื่อว่า Design Architect อยู่สักประมาณ 2-3 ปี  ซึ่งตอนอยู่ที่ Design Architect นั้นเองก็ได้ทำงานออกแบบทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์อาคาร บ้านพักอาศัย คุยกับลูกค้า ส่วนงาน Public นั้นก็ทำอยู่บ้างเช่น ห้าง City ตรงข้ามประตูน้ำ งาน interior ที่โรงหนัง Century ,ศูนย์ทันตกรรม สงขลา  นอกจากนั้นแล้วยังเขียนแบบยื่นก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เสนองานสวนสาธารณะศรีราชา ชลบุรี
งานก่อสร้างอาคารศูนย์สื่อสารทหาร, ไม่เว้นแม้แต่การทำโมเดลจำลอง 1:1 เพื่อเป็นต้นแบบให้ลูกค้าสำหรับบ้านจัดสรรอีกด้วย  พูดได้ว่าทำมาทุกอย่างมาเกือบสามปี    หลังจากนั้นรู้สึกอิ่มตัวกับงานสถาปัตย์จึงได้มาสมัครทำงานที่สถาบันพัฒนาองค์ชุมชนเมื่อปี 49 เพราะจบมาจากผังเมือง น่าจะใช้ความรู้ทางด้านนี้มาทำงานเพื่อสังคมบ้าง
       ลักษณะการทำงานของพี่เอ๋ในปัจจุบัน  ได้อยู่ส่วนงานบ้านมั่นคงโดยทำงานโดยสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม โดยการออกแบบบ้านมั่นคงนั้นไม่ได้กำหนดการออกแบบด้วยสถาปนิกทั้งหมด เพราะต้องการให้ชุมชนสร้างด้วยตัวเองได้ เป็นเครื่องมือการสร้างชุมชน  บริหารจัดการคน รวมถึงการออกแบบก่อสร้างเกี่ยวกับบ้านมั่นคง

ข้อคิดในการทำงานของพี่เอ๋แบ่งเป็นสองส่วนคือ
  1. อุดมคติของตนเองในตอนที่ทำงานเป็นสถาปนิกทั่วไปคือ  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
  2. หลังจากมาอยู่ที่สถาบันพัฒนาองค์ชุมชนนั้น ก็ได้มีแง่คิดที่แตกต่างกันออกไป โดยพี่เอ๋กล่าวว่า ตอนนี้ตำแหน่งก็เป็นหัวหน้า รับผิดชอบเยอะ ทั้งประเทศ  จึงต้องเป็นคนมองภาพที่กว้าง  เลือกทำในจุดที่ส่งผลถึงภาพใหญ่  โครงการมีเป็นร้อยเป็นพัน  จึงจำเป็นต้องสร้างต้นแบบที่ดีเพื่อให้คนได้เห็นและเข้าใจและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีความรับผิดชอบ
ความคิดเห็นเกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพ 
       พี่เอ๋ได้ให้แง่คิดเป็นสองส่วนคือว่า จุดมุ่งหมายของจรรยาบรรณคือการกำหนดเป็นเครื่องมือในการสร้างคน นอกจากนั้นยังมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ ข้อดีคือทำให้เรานั้นมีความรับผิดชอบ ส่วนข้อเสียคือทำให้ไม่กล้าคิดอะไรนอกกรอบ  หลังจากนั้นก็ได้ให้แง่คิดว่าจรรยาบรรณนั้นมีเพื่อตอบสนองตัวเองและสังคม เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน  แต่จรรยาบรรณนั้นก็ต้องมีการปรับให้เข้ากับสังคมด้วย เพราะลักษณะงานที่พี่เอ๋ทำนั้นบางทีก็ไม่ได้ใช้จรรยาบรรณเพราะด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่นด้านการเงินของผู้มีรายได้น้อย  บางทีบ้านที่ก่อสร้างไปนั้นก็ไม่ได้ตรงตามมาตรฐานการก่อสร้างเท่าไรนัก แต่ก็ต้องทำเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาทางด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือชุมชนที่มีปัญหา


หลังจากนั้นก็พี่เอ๋ก็ได้ให้ข้อคิดดี ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังจะจบและกำลังศึกษาอยู่คือว่าอยากให้น้อง ๆ เปิดมุมมองให้กว้างขึ้น  ในสิ่งที่เราคิดว่ากว้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในคณะหรือกิจกรรมซึ่งมีอยู่มากมาย แต่จริง ๆ แล้วมันยังมีอยู่อีกเยอะ เราก็เสมือนยังอยู่ในกะลาอยู่ดี  ดังนั้นแล้วเมื่อออกไปเจอกับโลกกว้างก็ต้องรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมิติของสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  จริง ๆ แล้วสถาปนิกสามารถทำอะไรได้หลายอย่างซึ่งเป็นข้อดี แต่เราต้องเข้าใจสังคมก่อน  เช่นจะออกแบบอะไร เส้นทุกเส้นมีความหมาย มีผลต่อสังคมทั้งสิ้น ไม่ใช่เอามันอย่างเดียว 

ผมได้ข้อคิดจากพี่เอ๋คือ คนทั่วไปมองสถาปนิกเรานั้นเป็นกลุ่มบุคคลที่รับใช้นายทุน ทำงานเพื่อผลประโยชน์ แต่ผมมองว่าก็ยังมีสถาปนิกอยู่อีกมากที่ทำงานรับใช้สังคม ก็ยังแสดงว่าวิชาชีพของเรานั้นสำคัญต่อโลกในหลาย ๆ ด้าน ไม่ใช่เรื่องที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่มันครอบคลุมไปถึงมิติทางสังคม ช่วยให้ผู้คนนั้นสามารถอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุขด้วย  (อย่างน้อยก็ไม่อายลุงขาว)

หลังจากจบการสัมภาษณ์แล้วพี่เอ๋ก็ได้ประชาสัมพันธ์ โดยวันที่ 21-22 ตุลาคม นี้ ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้มีการจัดงาน วันที่อยู่อาศัยโลก ก็จะมีการสัมนาทางวิชาการต่าง ๆ เกี่ยวกับงานเพื่อสังคม ผู้ที่สนใจก็สามารถร่วมงานได้